ในปี พ.ศ.2506 ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ (คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น) และศาสตราจารย์ ดร.พร้อม วัชรคุปต์ ได้สนับสนุนให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ม.ร.ว.อุตตรากร วรวรรณ เปิดสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิกขึ้นเป็นครั้งแรกในแผนกวิชาเคมีเทคนิค มีนิสิตรุ่นแรกจำนวน 6 คน นอกจากศาสตราจารย์ ม.ร.ว.อุตตรากรแล้ว ยังมีศาสตราจารย์ พล.ร.ต.บุญพบ บุญญาภิสันท์ และอาจารย์ทวี พรหมพฤกษ์ ได้กรุณาเป็นอาจารย์พิเศษมาช่วยสอนในบางวิชา การสอนสาขานี้ได้ดำเนินการต่อเนื่อง และผลิตบัณฑิตออกมา 10 รุ่น จำนวนเกือบ 100 คนในระหว่างนั้นเอง ศาสตราจารย์ ดร.พร้อม ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ภาควิชาเคมีและได้สอนวิชาทางวัสดุและโลหะแก่นิสิต ต่างๆ รวมทั้งนิสิตเซรามิกส์ตลอดมา ได้หารือกับศาสตราจารย์ ม.ร.ว.อุตตรากร และคณาจารย์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิกเป็นแผนกวิชา โดยที่เล็งเห็นว่าวิชาการด้านนี้ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก และมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาด้านเทคนิคและอุตสาหกรรม จึงได้เริ่มร่างและวางหลักสูตรขึ้น โดยมีการรวมวิชาต่างๆ ที่สอนในแผนกวิชาเคมีและวิชาที่สอนอยู่ในสาขาเทคนิคทางเซรามิกส์ในแผนกเคมี เทคนิค ตลอดจนได้ดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมวิชาต่างๆ ทางพอลิเมอร์ โลหะและสิ่งทอ เข้าไปในหลักสูตร ใช้ชื่อว่า “แผนกวิชาวัสดุวิทยา” (Department of Materials Science)

จนกระทั่งปีพ.ศ.2511 คณะวิทยาศาสตร์ได้ขออนุมัติต่อมหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งแผนกวิชาวัสดุวิทยา ในช่วงที่มหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาอยู่นั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ได้ขออนุมัติต่อมหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งแผนกวิชา วิศวกรรมโลหะการ (Department of Metallurgical Engineering) เช่นกัน เรื่องการขอจัดตั้งแผนกวิชาวัสดุวิทยาในคณะวิทยาศาสตร์และการจัดตั้งแผนก วิชาวิศวกรรมโลหะการในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณบดีในปีพ.ศ.2514 มติของที่ประชุมได้มอบให้ฝ่ายวิชาการจัดประชุมร่วมระหว่างผู้แทนทั้งสองคณะ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งแผนกวิชา และมีมติว่า ในการจัดตั้งอาจทำได้เป็น 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกให้จัดตั้งแผนกวิชาวัสดุวิทยาขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ และแผนกวิชาวิศวกรรมโลหะการในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยแยกกันก่อน และในอนาคตคือ หลังปีพ.ศ.2519 จะให้แผนกวิชาทั้งสองเข้ามาอยู่ในคณะที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ “คณะวัสดุวิทยา” (Faculty of Materials Science) ส่วนแนวทางที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์อาจยินยอมให้โอนอาจารย์และครุภัณฑ์ของสาขาวิชาเทคโนโลยีทางเซ รามิกส์ แผนกเคมีเทคนิค ให้ไปขึ้นอยู่กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์จะขอตั้งแผนกวิชา Materials Engineering ขึ้น ในอนาคตหลังปีพ.ศ.2519 จะขยายขึ้นเป็นคณะใหม่ คือ Faculty of Materials Engineering โดยอาจจะโอนแผนกธรณีวิทยาของคณะวิทยาศาสตร์และแผนกวิชาวิศวกรรมเหมือนแร่มา ร่วมก็ได้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้ดำเนินการตามแนวทางแรก คณะวิทยาศาสตร์จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรวัสดุวิทยาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อจาก “แผนกวัสดุวิทยา” เป็น “แผนกวิชาวัสดุศาสตร์”

 มหาวิทยาลัย ได้เสนอเรื่องไปยังสภาการศึกษาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2515 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พร้อม เป็นผู้ผลักดันที่สำคัญ โดยพยายามติดต่อขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ขณะที่ท่านกำลังเตรียมตัวที่จะไปดูงานที่ประเทศอังกฤษเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คือ ศาสตราจารย์ ดร.พร้อม ได้ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหัน คณะกรรมการสภาการศึกษา ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2515 ได้มีมติให้รวมแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ กับแผนกวิชาวิศวกรรมโลหะเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ควรจัดตั้งแผนกวิชาดังกล่าวที่คณะวิทยาศาสตร์หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีข้อสังเกตว่าควรปรับปรุงหลักสูตรทั้งสองให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน พร้อมกับได้รับรองปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต.(วัสดุศาสตร์) และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (โลหการ) เมื่อเรื่องได้ส่งกลับมายังมหาวิทยาลัย ที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 22/2515 มีมติให้ให้แต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าจะรวมทั้ง 2 แผนกวิชาไว้ที่คณะใด ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.สงัด รุทระกาญจน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัย ให้เหตุผลและข้อมูลต่างๆ เพื่อขอตั้งแผนกวิชาวัสดุศาสตร์เป็นการถาวร โดยไม่รวมกับแผนกวิชาวิศวกรรมโลหะการ ที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 33/2515 จึงได้มอบให้คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการซึ่งมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์ไววิทย์ พุทธารี เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ จนในปีพ.ศ.2516 จึงได้ผลสรุปซึ่งอาจประมวลได้ดังนี้ คือ
1. หลักสูตรทั้งสองเป็นหลักสูตรทางเทคโนโลยี คือ มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แต่ต่างกันในเนื้อหาสาระ และเป้าหมายในการผลิตบุคลากร
2. ไม่สมควรที่จะจัดรวมแผนกวิชาทั้งสองให้ขึ้นอยู่ในคณะใดคณะหนึ่ง เพื่อพัฒนาวิชาการทางเทคโนโลยีด้านนี้ให้เจริญก้าวหน้าขึ้น มหาวิทยาลัยควรมีโครงการที่จะจัดตั้งคณะใหม่ขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกว่า Faculty of Mineral and Materials Technology โดยชั้นต้นรวมแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ วิศวกรรมโลหะการ ธรณีวิทยา และวิศวกรรมเหมืองแร่ เข้าเป็นคณะใหม่นี้ และในอนาคตอาจขยายให้คลุมถึงสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน เช่น เทคโนโลยีปิโตรเลียม เป็นต้น
3. เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 2 มหาวิทยาลัยควรพิจารณาการจัดตั้งคณะใหม่ขึ้นโดยด่วนใน เดือนมิถุนายน ได้มีคำสั่งจากมหาวิทยาลัย แต่งตั้งกรรมการประสานงานเพื่อจัดรวมแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ ธรณีวิทยา วิศวกรรมโลหะการ และวิศวกรรมเหมืองแร่ โดยมีอธิการบดีในสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ เป็นประธาน และมีรองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการร่วมอยู่ด้วย มีการประชุม 2 ครั้ง จึงได้มีมติให้ระงับโครงการนี้ก่อนและยุบกรรมการชุดนี้ พร้อมทั้งได้ดำเนินเรื่องการจัดตั้งแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ และแผนกวิชาวิศวกรรมโลหะการไปก่อนเป็นเรื่องเร่งด่วน ในเดือนสิงหาคม มหาวิทยาลัยได้ส่งเหตุผลและคำชี้แจงในการขอแยกจัดตั้งแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ และแผนกวิชาวิศวกรรมโลหะการ ไปยังทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ทบวงมหาวิทยาลัยฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้และผลของการประชุมมีมติให้เปิดแผนกวิชานี้ได้วัน พฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ.2517 มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยแจ้งเป็นทางการว่าแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ได้รับอนุมัติ จัดตั้งเป็นแผนกอย่างเป็นทางการ จึงถือได้ว่าที่ 31 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครบรอบการก่อตั้งภาควิชาฯ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็ก อุตตมะศิล ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกคนแรก อาศัยห้องปฏิบัติการตลอดจนห้องเรียนของตึกเคมี 1 เป็นที่ทำการชั่วคราว (โดยเปิดการเรียนการสอนแก่นิสิตรุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 นับเป็น รุ่น MS1) และได้มีการโยกย้ายสถานที่ทำการของแผนกวิชา (ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นภาควิชา) มาอยู่ที่ตึกโรงอาหารเก่าของคณะวิทยาศาสตร์ (อาคารภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารในปัจจุบัน) ต่อมาได้ขยายพื้นที่ของภาควิชาไปยังชั้น 3 ของอาคารแถบ นีละนิธิ จนกระทั่งในปีพ.ศ.2535 จึงได้ย้ายจากตึกโรงอาหารเก่ามายังอาคารใหม่สูง 8 ชั้น โดยใช้ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ ซึ่งก็คืออาคารวัสดุศาสตร์ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ยังใช้พื้นที่ชั้น 3 ของอาคารแถบ นีละนิธิ อยู่ด้วย

นอกจากวิชาทางด้านวัสดุศาสตร์ซึ่งเน้นหนักทางด้านเซรามิกส์แล้ว ยังได้เพิ่มวิชาทางด้านโลหะพื้นฐาน พอลิเมอร์และสิ่งทอ จนกระทั่งในปีพ.ศ.2520 จึงได้แยกหลักสูตรออกเป็น 2 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาเซรามิกและวัสดุศาสตร์ และแขนงวิชาพอลิเมอร์และสิ่งทอ สำหรับวิชาด้านพอลิเมอร์และสิ่งทอ ได้รับความกรุณาจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.โอวาท นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนอยู่หลายวิชามาโดยตลอดจนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมผู้ ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็ก อุตตมะศิล ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาเรื่อยมา โดยได้วางรากฐานของภาควิชาฯ ให้มีความมั่นคงมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่งปีพ.ศ.2530 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็ก ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะวัสดุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำพน วัฒนรังสรรค์ รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาท่านต่อมา และได้สานต่องานต่างๆ ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็กได้ริเริ่มไว้ในปี พ.ศ.2531 รองศาสตราจารย์ปรีดา พิมพ์ขาวขำ ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา โดยในช่วงนี้ได้มีการพัฒนาวิชาการของภาควิชาฯ ที่สำคัญคือ ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิกขึ้นในปี พ.ศ.2533 ในช่วงที่รองศาสตราจารย์ปรีดา กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง และรองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา จะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสืบแทนในปีพ.ศ. 2535 จึงได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ ประยุกต์และเทคโนโลยีสิ่งทอขึ้นขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา มีการพัฒนาที่สำคัญหลายประการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างภาควิชาให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิเช่นมีการย้ายที่ทำการภาควิชาจากอาคารวัสดุศาสตร์หลังเก่า มายังอาคารที่ใช้ในปัจจุบัน นิสิตเก่าวัสดุศาสตร์รุ่น 1 ได้บริจาคงบประมาณเพื่อปรับปรุงห้องธุรการให้มีความทันสมัยและอำนวยความ สะดวกให้แก่บุคลากรได้เป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการส่งคณาจารย์ไปเรียนต่างประเทศ รวมทั้งวางแผนทุนการศึกษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากจนกระทั่งปี พ.ศ.2540 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ สืบแทนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็ก มหาวิทยาลัยจึงแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.เข็มชัย เหมะจันทร เป็นหัวหน้าภาควิชา ในยุคนี้เองภาควิชาฯ มีการพัฒนาด้านกายภาพอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และเริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรแบบเน้นวิจัยภาควิชาวัสดุศาสตร์ มีแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งเน้นไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย 

ปัจจุบันภาควิชาฯ ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาการวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำรวมถึงคณจารย์ที่จบจากหลักสูตรปริญญาเอกของภาควิชา สามารถสร้างความร่วมมือในการทำงานวิจัยและตั้งกลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ได้รับทุนวิจัยและงานบริการวิชาการจากหน่วยงานเอกชนและภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าภาควิชาวัสดุศาสตร์จะมีก้าวต่อไปอย่างมั่นคง เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ให้แก่ประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

1. บทความเรื่อง การก่อตั้งแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เล็ก อุตตมะศิล จากหนังสืออนุสรณ์ 20 ปีวัสดุศาสตร์
2. บทความเรื่อง 20 ปี ภาควิชาวัสดุศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา จากหนังสืออนุสรณ์ 20 ปีวัสดุศาสตร์
3. บทความเรื่อง วัสดุศาสตร์ 20 ปี โดย ศาสตราจารย์ ดร.โอวาท นิติทัณฑ์ประภาศ จากหนังสืออนุสรณ์ 20 ปีวัสดุศาสตร์
4. บทความเรื่อง ชีวิตเซรามิกส์ของข้าพเจ้ากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ม.ร.ว.อุตตรากร วรวรรณ จากหนังสืออนุสรณ์ 20 ปีวัสดุศาสตร์+++

thThai
Scroll to Top