อิฐมวลเบาก่อผนังเพื่อลดการ ถ่ายเทความร้อนด้วยเทคโนโลยีจีโอพอลิเมอร์

โครงการวิจัยและพัฒนาอิฐมวลเบาก่อผนังเพื่อลดการ ถ่ายเทความร้อนด้วยเทคโนโลยีจีโอพอลิเมอร์ มุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตอิฐมวลเบาจีโอพอลิเมอร์ฐานเถ้าลอย (Lightweight Fly ash-based Geopolymer Brick : LFGB) ที่นำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ วัสดุจีโอพอลิเมอร์เป็นวัสดุที่มีสมบัติเทียบเท่าปูนซีเมนต์ แต่การผลิตวัสดุจีโอพอลิเมอร์เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานต่ำกว่า สามารถสังเคราะห์ได้ที่อุณหภูมิห้อง ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ยังสามารถนำ วัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตจีโอพอลิเมอร์วัสดุทางเลือกที่มีความน่าสนใจ
จีโอพอลิเมอร์เป็นวัสดุที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสารละลายด่างความเข้มข้นสูงและสารตั้งต้นที่มีองค์ประกอบของอะลูมินา และซิลิกา เป็นหลัก ซึ่งสารตั้งต้นสามารถหาได้จากธรรมชาติ เช่น ดินขาว หรือเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม เช่น เถ้าลอย และเถ้าชีวมวลจากโรงงานผลิตไฟฟ้า เป็นต้น โครงสร้างของจีโอพอลิเมอร์ที่เกิดจากปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชันมีความแข็งแรง สามารถก่อตัวได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 90°C มีความเสถียร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในกระบวนการผลิตจีโอพอลิเมอร์มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ นอกจากนี้จีโอพอลิเมอร์ยังมีคุณสมบัติที่ดีกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในหลายประการ เช่น มีสมบัติในการดูดซับ ตรึงและกักเก็บโลหะหนักที่ดี มีสมบัติเป็นวัสดุฉนวนความร้อน มีความเสถียรที่อุณหภูมิสูงหรือทนไฟสูง และมีความแข็งแรงสูงที่สามารถใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้
นอกจากปรับปรุงข้อด้อยด้านความแข็งแรงของอิฐมวลเบาภายใต้ค่าความแข็งแรงของอิฐมวลเบาจีโอพอลิเมอร์ตามมาตรฐาน มอก. 1505-2541 แล้ว งานวิจัยนี้ยังมุ่งเน้นในการปรับปรุงการถ่ายเทความร้อนของอิฐมวลเบาให้ดีขึ้นกว่าอิฐมวลเบาทั่วไปด้วย โดยพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อน หรือ ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร (Overall Thermal Transfer Value, OTTV) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มอาคารใหม่ที่ต้องการพัฒนาสู่อาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Building)
ต้นแบบอิฐมวลเบาจีโอพอลิเมอร์ฐานเถ้าลอย (Lightweight Fly ash-based Geopolymer Brick : LFGB) ที่ผลิตได้ มีค่าความแข็งแรง ที่ 7 วัน เทียบเท่ากับอิฐมวลเบาในท้องตลาด ที่ 28 วัน และมีค่าการนำความร้อน ต่ำกว่าอิฐมวลเบาถึง 13%
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นการทำวิจัยร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริธันว์ เจียมศิริเลิศ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ

thThai
Scroll to Top